นักวิจัยราชมงคลขอนแก่น คิดค้นเครื่องฆ่าเชื้อภาคสนาม แก้ปัญหาการระบาดโควิด-19

คณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ระดมกำลังผลิตเครื่องฆ่าเชื้อภาคสนาม เพื่อใช้ในการทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีขนาดใหญ่ อาทิเช่น เตียงผู้ป่วย รถวีลแชร์ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งแนวคิดการสร้างเครื่องฆ่าเชื้อภาคสนาม เกิดจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา-19 ในประเทศไทย โดยเชื้อไวรัสสามารถเกาะติดอยู่ทั่วไปรอบตัวเรา ดังนั้น ทีมอาจารย์ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ปรมัตถ์ จันทร์โคตร สาขาวิชา แมคคาทรอนิกส์ ดร.พันธกานต์ แก้วอาษา สาขาวิชาเคมี อาจารย์พิศาล หมื่นแก้ว ดร. ศิโรรัตน์ พิลาวุธ และ ดร.สิริธร คิสาลัง สาขา วิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตรนั้น จึงเกิดแนวคิดร่วมกันในการสร้างเครื่องฆ่าเชื้อภาคสนามเพื่อใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อลดการแพร่กระจาย ซึ่งข้อดีของเครื่องนี้ คือ สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ทั่วถึง เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีการพ่นสารฆ่าเชื้อในรูปของหมอก ทำให้ครอบคลุมอุปกรณ์การแพทย์ได้ดีกว่าหัวพ่น นอกจากนี้ยังใช้สารฆ่าเชื้อในปริมาณน้อย โดยการฆ่าเชื้อ 10 นาที จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อประมาณ 1 ลิตร โดยส่วนประกอบของเครื่องประกอบด้วย เครื่องสร้างหมอก น้ำยาฆ่าเชื้อ (โดยตัวอย่างน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ คือ 0.05% benzalkonium chloride) และชุดพัดลมระบายอากาศ เพื่อเป่าอุปกรณ์การแพทย์ให้แห้งหลังจากการฆ่าเชื้อ และชุดตัวคอนโทรลกล่องควบคุมการทำงาน ส่วนตัวโครงสร้างที่สร้างมีเป็นลักษณะห้อง ขนาด กว้าง 1.90 X สูง 2 X ยาว 3 เมตร โครงเหล็ก กินวาไนซ์ (เหล็กชุบสังกะสี) มีคุณสมบัติกันสนิม เพราะความชื้นจากไอหมอก และพลาสติกใสคลุมหนา 2 มิลลิเมตร จัดวางอุปกรณ์ที่ต้องการฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย ในส่วนของการใช้งานเครื่อง ก่อนจะเปิดกล่องควบคุมการทำงานให้สร้างไอหมอกที่ จะเติมน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ จากนั้นเปิดเครื่องกระตุ้นการเกิดไอหมอก ทำการฆ่าเชื้อประมาณ 10-15 นาที เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แล้วปิดกล่องควบคุม นำอุปกรณ์การแพทย์ไปใช้งานได้ตามปกติ เครื่องฆ่าเชื้อภาคสนาม สามารถใช้งานได้ดี สะดวก ประหยัดอุปกรณ์ หาได้ง่าย ฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งไวรัส แบคทีเรีย และในอนาคต อาจจะปรับใช้ได้ในการฆ่าเชื้ออื่นๆกับอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุ เช่น เตียงของผู้ป่วยที่นอนติดเตียง รถเข็น หรืออุปกรณ์ช่วยหัดเดินเป็นต้น #ราชมงคลร่วมใจสู้ภัยโควิด19 #ราชมงคลขอนแก่น #โควิด19 #RMUTI_KKC

ข่าว: ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ภาพ: วรรณอนงค์ จุฑางกูร