TRAM 907 ย้ายเข้า DEPOT ที่ มทร.อีสานวิทยาเขตขอนแก่น
วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2563 นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วย ที่ปรึกษา บริษัท ช.ทวีจำกัด(มหาชน) และ บริษัท เอส. พี คอนโทรล ได้ทำการย้ายTRAM 907 จากด้านหน้า อาคาร 14 เข้าสู่ Depot โครงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการและซ่อมบำรุงหัวรถจักร ภายใน
มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และการวิจัยด้านการผลิตรถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบ ต่อไป TRAM 907 โดย บริษัท ฮิโรชิมา เดนเทซึ โบกี้ บริจาคผ่านเทศบาลนครฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ส่งต่อให้เทศบาลนครขอนแก่น และมอบให้มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นำมาใช้เพื่อการเรียนการสอน การศึกษา การวิจัย และนำมาทดลองวิ่งใน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ระยะทางประมาณ 500 เมตร 4 สถานี TRAM รถไฟฟ้ารางเบา ขนาดทาง 1.435 เมตร ระบบไฟฟ้าจ่ายเหนือศีรษะ แรงดันไฟฟ้ากระแสตรง 600 โวลต์ ขนาดยาว 12.48 เมตร ขนาดกว้าง 2.47 เมตร สูง 4 เมตร รองรับผู้โดยสารจำนวน 36 ที่นั่ง มีความจุผู้โดยสารสูงสุด 80 คน TRAM HOUSE จะเป็นศูนย์วิจัยระบบราง เป็น Tram research center รวบรวมวัสดุ รูปแบบการก่อสร้าง รูปแบบรางระบบที่ใช้หินโรยทางและไม่ใช้หินโรยทางและจะก่อสร้างรถรางต้นแบบ โดยได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลเพื่อการศึกษาจาก เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ใช้งบประมาณ ในการก่อสร้าง 11,270,000 บาท ควบคุมดูแลการขนย้ายโดย อาจารย์เขมวัตร อินทรวิเศษ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งได้รับการฝึกอบรม จาก บริษัท ฮิโรชิมา เดนเทซึ โบกี้ เทคนิคการถอด ประกอบ คือถอดชุดโบกี้ และ ชุด Car Body ออกจากกัน ชุดโบกี้ของ Tram นั้นเปรียบเสมือน ช่วงล่างของรถยนต์ประกอบไปด้วยชุดล้อ ชุดเบรค ชุดรองรับน้ำหนัก แต่ Tram ไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนโดยใช้มอเตอร์ ส่วนชุดการควบคุมการขับนั้นอยู่ที่ Car Body ซึ่งประกอบไปด้วย ชุดพวงมาลัย ชุดสวิทซ์ควบคุมต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินการในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คณาจารย์นักวิจัย จะได้นำนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ระบบรางเครื่องกล ระบบรางไฟฟ้า ระบบรางโยธา ร่วมฝึกปฏิบัติจริงในทุก ๆ ด้าน สมกับปณิธาน สร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี
ข่าว : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ถ่ายภาพ/กราฟิก : ประภาศิริ แซ่เล้า
#PRRMUTI
#RMUTI
#RMUTIKKC
#ราชมงคลขอนแก่น
#TRAM907