การแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศไทย) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ร่วมให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขัน กิจกรรมการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศไทย) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ณ ศูนย์ Fab Lab ชั้น 1 อาคาร 50 ปี ไทย – เยอรมัน ขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

การแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศไทย) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นการแข่งขันนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากฐาน โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อชิงเงินรางวัลรวม 250,000 บาท จำนวน 5 รางวัล ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัลพร้อมโล่จากรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 9 แห่ง และมีทีมที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 40 ทีม เข้าทำการแข่งขันในระหว่างวันที่ 14 – 15 กรกฎาคม 2564 โดยทำการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ด้วยการส่งคลิปวีดีโอเข้าร่วมการแข่งขันผ่านช่องทาง Google Drive จากนั้นทีมที่ผ่านการคัดเลือกต้องทำการแข่งขันผ่านระบบ ZOOM เพื่อนำเสนอและตอบข้อซักถามแก่คณะกรรมการ ภายในระยะเวลา 14 นาที ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้มีโจทย์การแข่งขันในการพัฒนา จำนวน 4 หัวข้อ คือ 1. Circular Economy 2. Creative Economy 3. Technology/Health care 4. Art and Cultural ซึ่ง มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ส่งทีม Smart Tambon khampaoung เข้าร่วมการแข่งขัน ในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาความยากจนและการ UPSIDE -POTENTIAL เกษตรคำพอุง”

คำว่า “แฮกกาธอน (Hackathon)” มาจากการรวมคำว่า “แฮก (Hack)” ซึ่งในที่นี้ หมายถึง การสร้างสิ่งใหม่ กับ “มาราธอน (Marathon)” ที่หมายถึง การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักเหมือนกับการแข่งขันวิ่งมาราธอน รวมกันแล้วให้ความหมายถึง การสร้างสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับ (Themes) ภายในระยะเวลาจำกัดตามที่ผู้จัดงานกำหนด เช่น 12 – 48 ชั่วโมง เป็นต้น ทั้งนี้ โดยบรรดานักนวัตกรรม นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักเทคโนโลยี นักออกแบบกราฟิก วิศวกร นักการตลาด และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ในลักษณะทีมและตัวแทนของแต่ละทีมออกมานำเสนอผลงานเพื่อให้ผู้จัดงานตัดสินหาทีมผู้ชนะ ซึ่งทีมที่สามารถแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์การพัฒนาได้ดีที่สุดภายในเวลาที่กำหนดจะเป็นผู้ได้รับรางวัลในการแข่งขัน โดยคณะผู้จัดกิจกรรมจะทำหน้าที่จัดหาเทคโนโลยี แกดเจ็ท (Gadget) ไอพีไอ (API) และทรัพยากรสารสนเทศที่จำเป็น ให้ผู้แข่งขันนำไปใช้ต่อยอดสร้างสรรค์ผลงาน
การจัดแฮกกาธอนมีขึ้นครั้งแรกในวงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและวิสาหกิจเริ่มต้นโดยเป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างหรือเขียนโปรแกรมใหม่ ๆ แต่ปัจจุบันแฮกกาธอนได้รับการยกระดับให้เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อตอบวัตถุประสงค์ในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในภาคธุรกิจและภาคสังคม จึงเป็นที่มาของความต่อเนื่องด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดแฮกกาธอนในประเทศไทย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างสนับสนุนให้มีการจัดแฮกกาธอนมาโดยตลอดภายใต้โจทย์ของการพัฒนาที่มีความแตกต่างกันไปตามหน่วยงานผู้จัด

ข่าว : ศันสนีย์ ไชยเพีย
ภาพ : พิมพ์ชนก กุลเพ็ง

https://www.facebook.com/Rmutikhonkaen/posts/4140823159317674