ราชมงคลขอนแก่นร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 จัดสร้างชุดครอบเตียงความดันลบ แก้ปัญหาเตียงเต็ม มอบ รพ.เชียงยืน


เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น หรือ (เทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่น) ระดมคณาจารย์เร่งสร้างชุดครอบเตียงความดันลบ พร้อมชุดดูดอากาศ Negative Pressure เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องปฏิบัติงานอย่างหนักในวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ มีผู้ป่วยและผู้เฝ้าระวังที่ต้องกักตัวในหลายพื้นที่ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดขอนแก่น มทร.อีสาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานขอความร่วมมือคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อช่วยจัดสร้างนวัตกรรม อุปกรณ์ และเครื่องมือที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้ เพื่อส่งมอบให้ รพ.ชุมชน รพ.สนาม และพื้นที่ขาดแคลน

อาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ได้ประสานคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญและเสียสละเวลามาช่วยสร้างพร้อมทั้งจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ประยุกต์สร้างชุดครอบเตียงความดันลบ จนได้ชุดครอบเตียงจำนวน 3 ชุด คณาจารย์คณะทำงานประกอบด้วย ว่าที่ ร.อ.สุนทร อนุภาพไพรบูลย์ อาจารย์ธวัชชัย สิมมา อาจารย์เขมวัตร อินทรวิเศษ สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์บรรลุ เพียชิน ว่าที่ ร.ต.เอกราช ไชยเพีย อาจารย์ ดร.สุบรรณ ผลกสิ สังกัดคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
จุดเด่นชุดครอบเตียงความดันลบคือ สามารถถอดประกอบ และเคลื่อนย้ายได้สะดวก เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย โครงเตียงมีขนาด 2.51.32.10 เมตร ใช้ท่อพีวีซีและพลาสติกแผ่นใสหนาเป็นพิเศษประกอบเป็นตัวโครง ที่สามารถเคลื่อนย้ายและถอดประกอบได้ง่าย มีพัดลมดูดอากาศมาที่กล่องฆ่าเชื้อซึ่งตัวกล่องประยุกต์จาก White board โครงอลูมิเนียม เหล็กฉาก ภายในกล่องประกอบด้วย PRE Filter และ Hepa Filter ซึ่งถือเป็นหัวใจของการกรองอากาศ และมีหลอด U-VC Lamp เพื่อฆ่าเชื้อโรคและจุลินทรีย์ต่าง ๆ

ว่าที่ ร.อ.สุนทร อนุภาพไพรบูลย์ เปิดเผยว่า ที่มาของแนวคิดการจัดสร้างชุดครอบเตียงคือห้องความดันลบมีจำนวนจำกัด ปัญหาเตียงเต็มในหลายโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่มีเตียงไม่มีสถานที่รักษาตัว บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้าเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19 จึงเป็นที่มาของการจัดสร้าง และมีความยินดีที่จะเผยแพร่องค์ความรู้นี้ไปยังสถาบันการศึกษาและชุมชนที่ต้องการสร้างชุดครอบเตียงเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัย และสิ่งสำคัญที่สุดคืออยากให้พี่น้องประชาชนคนไทยรักและสามัคคีกันให้มาก ใครที่มีความรู้ความสามารถด้านไหนก็ขอให้ออกมาช่วยกันเป็นกำลังสำคัญให้คนไทยทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19

ข่าว : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ภาพ : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา และคณะทำงาน

https://www.facebook.com/Rmutikhonkaen/posts/4248030551930267