
รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เยี่ยมชมโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram)
วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 15.45 น. ณ ห้องประชุมไพศาล ห์ลีละเมียร อาคาร 18 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ นายณัฐภาณุ นพคุณ พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting : APEC SFOM) โดยมี ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วยอาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะผู้บริหารและคณาจารย์ทีมงานระบบราง ให้การต้อนรับ การลงพื้นที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
ในครั้งนี้ นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวชื่นชมยินดีและดีใจที่ได้มาเยือนสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความเข้มแข็งด้านวิชาการและงานวิจัย ของ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และได้ให้ความสนใจเยี่ยมชมรถรางไฟฟ้าขบวนใหม่ มีความยาวกว่า 20 เมตร สูง 3.50 เมตร จำนวน 2 โบกี้ พร้อมทั้งการวางรางตัวอย่างรถรางไฟฟ้าต้นแบบ แบบหมอนคอนกรีต ณ อาคารฝึกปฏิบัติการซ่อมบำรุงรถไฟ (DEPOT) ซึ่งเตรียมใช้วิ่งขนส่งจริงภายในระยะทาง 400 เมตร ในอนาคตอันใกล้นี้
โอกาสนี้คณาจารย์ทีมงานระบบราง นำโดยอาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.ไพรวรรณ เกิดตรวจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับอนุมัติทุนอุดหนุนโครงการวิจัย “การวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย : เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม” จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต : เทคโนโลยีระบบราง (Railway) ซึ่งได้รับอนุมัติอุดหนุนทุนวิจัย ต่อเนื่อง 2 ปี ร่วมนำเสนอข้อมูลและตอบข้อซักถาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เริ่มวางรางตัวอย่างแบบชั่วคราว เพื่อเตรียมใช้วางขบวนรถรางไฟฟ้าต้นแบบ โดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย โดยฝีมือคนขอนแก่น รวมถึงการใช้ทรัพยากรในจังหวัด และจัดหาทรัพยากรภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตชิ้นส่วนระบบรางในเชิงพาณิชย์ และเข้าสู่ระบบภาคอุตสาหกรรม ระยะถัดไปจะเป็นการใช้วิ่งจริงภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ระยะทางรวม 400 เมตรปัจจุบันอยู่ในช่วงของการศึกษาออกแบบโครงการ สำหรับรางชั่วคราวนี้เป็นรางรูปแบบทางวิ่งชนิดใช้หมอนคอนกรีต และหินโรยทาง (Ballast track) ความยาวประมาณ 50 เมตร ตั้งอยู่ที่บริเวณข้างศูนย์อาคารซ่อมบำรุง Depot ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ในการศึกษาเรียนรู้ของทีมวิจัยต่อไป
ข่าว : ศันสนีย์ ไชยเพีย
กราฟิก : พิมพ์ชนก กุลเพ็ง