
สาขาวิชาวิศวกรรมอาหารและชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ลงพื้นที่อบรมการพัฒนาเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดโปรตีนแมลงจิ้งหรีด และการพัฒนาวัสดุเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดจากใบตองและกาบกล้วย
วันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2565 อาจารย์ ดร.ภูชิสส์ ตันวาณิชกุล สาขาวิชาวิศวกรรมอาหารและชีวภาพ หัวหน้าโครงการฯ พร้อมด้วยคณะนักวิจัยสาขาวิชาวิศวกรรมอาหารและชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ อาจารย์ปพนพัฒน์ ภัทรฐิติวัสส์ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่บ้านโนนงาม ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่ออบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี 2 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาวัสดุเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดจากใบตองและกาบกล้วยทดแทนการใช้แผงไข่กระดาษ และการพัฒนาเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดโปรตีนแมลงจิ้งหรีด
โครงการพัฒนาวัสดุเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดจากใบตองและกาบกล้วยทดแทนการใช้แผงไข่กระดาษเพื่อการเข้าสู่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP หมายถึงแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน การใช้ใบตองและกาบกล้วยเป็นวัสดุธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยซึ่งเป็นอาหารที่จิ้งหรีดชอบแทะ เป็นวัสดุหาง่ายในท้องถิ่นลดต้นทุนการผลิตและยังมีการผสมผสานเทคโนโลยีขึ้นรูปวัสดุจากต้นกล้วยเพื่อขึ้นรูปเป็นแผงเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดได้ สร้างเป็นนวัตกรรมการจัดการการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดได้เป็นอย่างดี
โครงการการพัฒนาเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดโปรตีนแมลงจิ้งหรีดนั้น เพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้การเลี้ยงจิ้งหรีดซึ่งเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมในการบริโภคและมีโปรตีนสูง โครงการฯ ได้ศึกษาวิธีการสกัดโปรตีนจากจิ้งหรีดที่เหมาะสม การทำให้แห้งเพื่อเก็บรักษาและสะดวกต่อการบริโภค อันจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดที่เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี การลงพื้นที่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านโนนงามเข้าร่วมโครงการฯ และให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมด้วยบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และมิตรภาพระหว่าง มทร.อีสาน และชุมชน
ข่าว : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ภาพ : คณะทำงาน
กราฟิก : รัตนาวดี ประกายแก้ว