
วิศวกรจิตอาสา ราชมงคลขอนแก่น มอบเสาธงและเวที เพื่อน้อง รร.บ้านตูม
วันที่ 18-19 มีนาคม 2566 อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดี ประจำวิทยาเขตขอนแก่น มอบ อาจารย์ประสาท ภูปรื้ม ผู้อำนวยการ หน่วย IE SEAL (Special Engineers Ability to Learning) พร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เข้าร่วมดำเนินการกิจกรรมจิตอาสา สร้างเสาธงและเวทีเคลื่อนที่ให้แก่ โรงเรียนชุมชนบ้านตูมวิทยาคาร อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และยังได้ร่วมกันซ่อมบำรุง เครื่องเล่น ประตู และรั้วโรงเรียน ร่วมกันทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนายคำตัน เค้าแคน คณะครู ผู้นำชุมชนในพื้นที่
โรงเรียนบ้านตูม ได้ขอความอนุเคราะห์ให้ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จัดสร้างโดมอเนกประสงค์ ให้กับโรงเรียน ซึ่งเป็นโดมขนาดใหญ่ กว้าง 28 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 12 เมตร เพื่อให้เป็นสถานที่ในการเล่นกีฬา ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนและชุมชน เนื่องจากเป็นโดมอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ หากมีการจ้างเหมาราคาจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท ด้วยความอนุเคราะห์ของคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา วิทยาเขตขอนแก่น จึงดำเนินการได้สำเร็จและส่งมอบโดมได้เป็นที่เรียบร้อย แต่เพื่อความสมบูรณ์แบบ อาจารย์ประสาท ภูปรื้ม นำคณาจารย์ในสาขา จัดสร้างเสาธงเคลื่อนที่และเวทีเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงเรียนและชุมชนได้ทำกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จึงระดมกำลังคณาจารย์และนักศึกษา โดยใช้เวลาว่างหลังจากปิดภาคการศึกษาที่ 2/2565 ลงพื้นที่เป็นเวลา 2 วัน มีการมอบหมายและแบ่งงานให้กับนักศึกษาแต่ละห้องแต่ละชั้นปีตามความรู้ความสามารถของนักศึกษา และยังได้รับการอนุเคราะห์จาก อาจารย์ ดร.ภูริพัส แสนพงษ์ ออกแบบขนาดเวทีกิจกรรม มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 0.7 เมตร ได้รับการออกแบบให้มีความแข็งแรงตามตามหลักวิศวกรรม และผลิตจากโครงเหล็กที่มีความแข็งแรง พื้นไม้อัดขนาดความหนา 20 มิลลิเมตร จึงเหมาะแก่การใช้งาน
ส่วนเสาธงนั้นมีความสูง 7 เมตร ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์จังหวัดกาฬสินธุ์และโรงเรียนชุมชนบ้านตูมวิทยาคารซึ่งมีจุดเด่นด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานประจำท้องถิ่น ได้แก่ โปงลาง การออกแบบให้ฐานเสาธงมี 3 ชั้น ซึ่งหมายถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตรย์ เสาธงหลักนั้น มีเสารองรับด้านข้างทั้งสอง หมายถึงความมั่นคง ด้านข้างเสาธงมีการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายลูกโปงลาง มีลักษณะทิศทางลู่เข้าสู่ยอดเสา เป็นลักษณะสามเหลี่ยมหมายถึงความเจริญก้าวหน้า เชื่อมั่นในความแข็งแรงเหมาะแก่การใช้งาน นับเป็นการสร้างประสบการณ์ และเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เกิดความรักความสามัคคีภายในหมู่คณะ นับว่าเป็นกุศโลบายที่ดีในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติเพื่อช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ข่าว : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ภาพ : คณะทำงาน
กราฟิก : รัตนาวดี ประกายแก้ว