
สุดอลังการ ราชมงคลขอนแก่น ร่วมสืบสานประเพณีรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น ฉลองครบรอบ 226 ปี
วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 16.00 น. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดย อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น สนับสนุนนางรำและนายรำ จำนวน 143 คน ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.อารีรัตน์ เชื้อบุญกิด โนท คณบดีคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ทั้งหญิงและชาย เข้าร่วมรำในพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น ฉลองครบรอบ 226 ปี ก่อตั้งเมืองขอนแก่น ซึ่งจะมีการรำบวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟพาวเวอร์” ประจำปี 2566 “ขอนแก่นประเพณีล้ำค่า เมืองน่าท่องเที่ยว” ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถนนศรีจันทร์ การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญด้านการทำนุบำรุงศาสนา อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้ให้ความร่วมมือสนับสนุนนางรำและนายรำร่วมรำบวงสรวงเป็นประจำทุกปี
โดยการรำบวงสรวงในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนในอำเภอต่าง ๆ รวม 26 อำเภอ มาร่วมรำบวงสรวง รวมกว่า 45,000 คน ใช้เวลาในการรำ 30 นาที กับบทเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมชมและให้กำลังใจการรำที่ยิ่งใหญ่อลังการ พร้อมกับศิลปินรับเชิญ แอน อรดี และ บอย ศิริชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในนางรำ – นายรำ ลูกหลานชาวอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น
สำหรับการจัดงานเทศกาลไหมฯ ในครั้งนี้ มีจุดเด่นอยู่ที่ การแสดงอัตลักษณ์ความงดงามของผ้าลายไทยจังหวัดขอนแก่นและการรื้อฟื้นสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของคนอีสานที่มีมาแต่โบราณทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรม พิธีผูกเสี่ยว การประกวดพานบายศรี การจัดแสดงและประกวดผ้าไหม การจัดคุ้มศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้า OTOP บริการนวดแผนไทย สินค้าจากกลุ่มเกษตร การสาธิตมัดหมี่ การทอผ้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหม อาหารต่าง ๆ ณ หมู่บ้านเฮือนโบราณอีสาน จำนวน 26 หลัง ซึ่งแต่ละอำเภอในจังหวัดขอนแก่น ได้นำไม้เรือนเก่าที่มีอยู่ในพื้นที่มาดัดแปลงสร้างเป็นเฮือนบ้านไม้แบบโบราณบนพื้นที่จัดงานแสดงเทศกาลไหมฯ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นรวมเป็นหมู่บ้านชุมชนโบราณ โดยการปลูกสร้างบ้านที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงรวมกันอยู่เหมือนคุ้มที่มีเฮือนรวมกันอยู่หลาย ๆ หลังเป็นหมู่บ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน ใช้ชื่อว่า “เฮือนโบราณ วิถีไทยบ้านขอนแก่น” ให้ยังคงอยู่สืบทอดเป็นมรดกของคนภาคอีสานตลอดไป
ข่าว : ศันสนีย์ ไชยเพีย
ภาพ : สิทธิณีพร ผ่านสำแดง
รัตนาวดี ประกายแก้ว
กราฟิก : รัตนาวดี ประกายแก้ว