
สถาบันชุณหะวัณฯ จับมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นประกอบการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding ) โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port ) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ ณ ห้องประชุมมงคลประดู่ ชั้น 3 อาคาร 18 มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
การประชุม ฯ ในวันนี้ ได้รับเกียรติจากนายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดประชุม นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กล่าวรายงาน ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ ผู้ช่วยอธิการบดี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ วัตถุประสงค์การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ความสนใจของกลุ่มนักลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่ง กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน
รายละเอียดของการประชุมเริ่มต้นด้วยการรายงานความเป็นมาของโครงการฯ ขอบเขตการดำเนินโครงการบรรยายโดย ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา ผู้จัดการโครงการฯ การศึกษาความเหมาะสมด้านกายภาพ (Size Selection) การออกแบบเบื้องต้นในพื้นที่โครงการ (Preliminary Design) บรรยายรายละเอียดโดย ผศ.สุธน คงศักดิ์ตระกูล (ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม) การศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม บรรยายโดย ผศ.ดร.พงษ์สุทธิ์ พื้นแสน (ที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน) ประเด็นการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ บรรยายโดย ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง บรรยายข้อมูลท่าเรือบกและศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยานที่ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมประชุม นักลงทุน ผู้ประกอบการด้านการขนส่ง กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะโครงการฯ ท่าเรือบก (DRY PORT) คือท่าเรือที่มีตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามาตั้งไว้บนบกไม่ได้อยู่ติดทะเล รอการกระจายสินค้าโดยใช้ระบบรางเข้ามาเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า ดำเนินพิธีการศุลกากร และการตรวจสุขอนามัยตามมาตรฐานเช่นเดียวกับท่าเรือ โดยตู้สินค้าที่ผ่านการตรวจปล่อยจากท่าเรือบกสามารถถ่ายสินค้าลงเรือได้โดยตรงส่งออกสู่ต่างประเทศได้ทันที
ซึ่งจากผลการศึกษาด้านเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกจังหวัดที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาท่าเรือบก ได้แก่ ด้านโลจิสติกส์ ระบบราง บรรยากาศการลงทุน นโยบายและเศรษฐกิจ พบว่าจังหวัดที่เหมาะสมในการจัดตั้งท่าเรือบกตามหลักเกณฑ์ข้างต้น คือจังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบกและ Logistics Park มากที่สุดอีกทั้งที่ตั้งยังอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมหลักทั้งทางบกและทางราง บริเวณสถานีรถไฟโนนพะยอม ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากพื้นที่มีขนาดพื้นที่ว่างเพียงพอ และอยู่ใกล้กับถนนสายหลัก (ถนนมิตรภาพ) มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นท่าเรือบกได้ ประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาท่าเรือบก ได้แก่ เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่สูงขึ้น จังหวัดขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางแห่งการค้าและการลงทุนของภูมิภาคในอนาคต ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการ
ข่าว : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ภาพ : คณะทำงาน
กราฟิก : สิทธิณีพร ผ่านสำแดง