ราชมงคลขอนแก่น หนุนผู้เชี่ยวชาญ DRY PORT ร่วมศึกษาเส้นทางเชื่อมโยงไทย ลาว จีน

🔶🔹 ราชมงคลขอนแก่น หนุนผู้เชี่ยวชาญ DRY PORT ร่วมศึกษาเส้นทางเชื่อมโยงไทย ลาว จีน 🔸🔷

🚊 ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งทางราง ที่ปรึกษาวิจัย โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และสถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ให้เกียรติเข้าร่วมสำรวจเส้นทางขนส่งสินค้า รถไฟลาว – จีน (ไทย – ลาว – จีน) จังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครหลวงเวียงจันทน์ คุนหมิง ฉงชิง ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2567

🔎 การสำรวจเส้นทางนำโดย ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา ผู้อำนวยการสถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ผู้จัดการโครงการพัฒนาท่าเรือบก ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) และนายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ พร้อมคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างที่ปรึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ของการสำรวจเส้นทางครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่สังเกตศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจ การแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อรับทราบถึงโอกาส อุปสรรค ประสบการณ์และมุมมองการบริหารจัดการการขนส่ง อันจะเป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์โอกาส รวมทั้งนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำรายงานโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ต่อไป

✨ การสำรวจเส้นทางได้เข้าพบหารือหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เป็นผู้ประกอบการดำเนินการขนส่งสินค้าทางรถไฟตามแนวเส้นทาง ไทย – สปป.ลาว – สป.จีน และได้ศึกษาสำรวจเส้นทางรถไฟซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน – อินโดจีน และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Bell & Road Initiative – BRI) ตามนโยบายประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของ สป.จีน ที่ได้ริเริ่มขึ้นในปี 2013 เพื่อขยายเส้นทางการเดินทางการขนส่งเชื่อมต่อ 70 ประเทศทั่วโลก ทั้งทางบกและทางทะเล เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน โครงการดังกล่าวทำให้ สปป.ลาว กลายเป็นประเทศผู้เชื่อมโยง (Land link) อย่างเต็มตัว

🏷 การสำรวจเริ่มตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ เดินทางต่อยังนครคุนหมิงและนครฉงชิง ได้รับความอนุเคราะห์จาก กรมเอเชียตะวันออก กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิงและนครเฉิงตู ที่อำนวยความสะดวกติดต่อประสานงานหน่วยงานภาครัฐใน สป.จีน ทำให้การสำรวจเส้นทางสำเร็จตามวัตถุประสงค์ตามกำหนดการด้วยมิตรภาพและความประทับใจ

🖋 ข่าว : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ภาพ : คณะทำงาน
กราฟิก : รัตนาวดี ประกายแก้ว

https://www.facebook.com/Rmutikhonkaen/posts/pfbid0Q6uEwdzL995o9MLxUQiDLMwnF9QWvYBt4XQvL8CUFoS1yYs4PiGB11qFrEvPrGvcl