ราชมงคลขอนแก่น เปิดโต๊ะแถลงข่าวกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ “แทรมน้อย” ต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาของเมืองขอนแก่น

ราชมงคลขอนแก่น เปิดโต๊ะแถลงข่าวกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ “แทรมน้อย” ต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาของเมืองขอนแก่น

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมไพศาล ห์ลีละเมียร อาคาร 50 ปี เทคนิค ไทย – เยอรมัน ขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยอาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วยอาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.ไพรวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ “แทรมน้อย” ต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาของเมืองขอนแก่น ซึ่งกำลังทำการพัฒนาอยู่ภายในพื้นที่บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นระบบขนส่งมวลชนแก้ไขปัญหารถติดในเขตพื้นที่เมืองขอนแก่น

อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ได้กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบของเมืองขอนแก่น เมื่อคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลาเกิดเหตุประมาณ 23.30 น. ตรวจพบโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในเบื้องต้นขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรถไฟฟ้ารางเบานี้เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม (โครงการวิจัยงานเชิงกลยุทธ์ Strategic Fund : SF) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต : เทคโนโลยีระบบราง (Railway) จัดสร้างโดยทีมงานคณาจารย์นักวิจัย มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการ 2 ระยะ โครงการระยะที่ 1 ใช้ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2563 – 2565) งบประมาณ 90 ล้านบาท โครงการระยะที่ 2 ใช้ระยะเวลา 1 ปี (พ.ศ.2565 – 2566) งบประมาณ 33 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 123 ล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้เกิดขึ้นในระยะที่ 2 ภาพรวมโครงการใกล้เสร็จสมบูรณ์โดยดำเนินการไปแล้วกว่า 97%

รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่นกล่าวว่า สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ สันนิษฐานว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องรอผลยืนยันการตรวจพิสูจน์หลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ภาค 4 อีกครั้ง โดยใช้ระยะเวลาวิเคราะห์พยานหลักฐานประมาณ 1 เดือน ซึ่งความเสียในครั้งนี้ประเมินมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้นที่เกิดขึ้นกับตู้โดยสารภายนอกและภายใน ระบบขับเคลื่อน คิดเป็นความเสียหายประมาณ 70% มูลค่า 84 ล้านบาท แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีที่ชุดล้อเลื่อนรถไฟ (โบกี้) ไม่ได้รับความเสียหาย

ในส่วนของมาตราฐานการออกแบบและการประกอบชิ้นส่วน อาจารย์ ดร.ไพรวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า นักวิจัยและทีมงานทุกคนออกแบบและประกอบชิ้นส่วนทุกอย่างตามมาตรฐานของยุโรป อุปกรณ์ทุกชิ้นที่นำมาใช้งานได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รูปแบบการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ภายในรถ ประกอบและติดตั้งถูกต้องตามรูปแบบวิธีการมาตรฐานสากล EU ทั้งการออกแบบ มาตรฐาน หรือในเชิงเทคนิค รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมประมาณ 9 – 12 เดือน และมีความมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับโครงการที่จะนำรถไฟรางเบาไปใช้วิ่งจริงเพื่อทดสอบในพื้นที่มหาวิทยาลัยและรอบบึงแก่นนคร โดยนักวิจัยและทีมงานที่เกี่ยวข้องทุกท่านยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ได้ความปลอดภัยที่ดีที่สุดสำหรับชาวขอนแก่นต่อไป

ข่าว : ศันสนีย์ ไชยเพีย
กราฟิก / ภาพ : สิทธิณีพร ผ่านสำแดง