ราชมงคลขอนแก่น ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือ
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน มอบ อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ นำ ว่าที่ รต.ดร.เอกราช ไชยเพีย อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาช่างกลเกษตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และนักศึกษาโปรแกรมวิชาช่างกลเกษตร ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ตำบลดงเดือย อำกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ตามนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)โดยความร่วมมือของ สอวช. หน่วย บพท. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ร่วมสนับสนุน “เรือกู้ภัย (wifi)” และ ”เรือพลังลม“ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้ส่งมอบเรือให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ในฐานะกลไกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อส่งต่อให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และได้นำเรือส่งมอบต่อให้กับ นายก อบต.ดงเดือย และกำนัน ต.ดงเดือย เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแนะนำและสาธิตการใช้งานให้คณะผู้บริหาร บพท. และนายบรรเลง หนูหริ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงเดือย ผู้ดูแลพื้นที่ ตำบลดงเดือย อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นในการออกไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อไป
“เรือกู้ภัย (wifi)” และ ”เรือพลังลม“
ทั้งนี้ การบริหารจัดการใช้เรือจะมีนายอำเภอกงไกรลาศเป็นผู้บริหารจัดการ หากพื้นที่ไหนต้องการใช้เรือดังกล่าว ให้อนุมัติผ่านนายอำเภอ ภายใต้การกำกับและติดตามของนายกอบต.ดงเดือย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
มทร.อีสาน เป็นมหาวิทยาลัย ฯ ชั้นนำที่มีการศึกษาและงานวิจัยที่มีคุณค่า นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่นปัญหาน้ำท่วมซึ่งปัจจุบันมีความรุนแรงและเกิดอุทกภัยเกือบทุกปี เรือพลังลมเป็นอีกงานวิจัยที่นำมาสนับสนุนและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพราะเป็นเรือที่มีความสะดวกในการเข้าพื้นที่ เป็นเรือขนาดเล็กโครงเรือทำจากเหล็ก กาบเรือทำจากไฟเบอร์กลาส มีขนาดความยาว 4 เมตร กว้าง 2 เมตร มีความสูงจากท้องเรือถึงขอบด้านบน 0.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็ก ขนาด 185 hp ใช้ใบพัดพารามอเตอร์แบบ 4 ใบพัด ขนาด1.5 เมตร เป็นต้นกำลังสำหรับการสร้างแรงผลักส่งกำลังด้วยสายพานใช้หางเสือเป็นตัวควบคุมทิศทาง การเลี้ยว บรรทุกน้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 300 kg เคลื่อนที่ได้ในน้ำตื้นตั้งแต่ 30 cm เคลื่อนที่ได้ดีแม้ในน้ำมีสิ่งกีดขวางจำพวกผักตบชวา
มทร.อีสาน พร้อมให้การสนับสนุนทุกภารกิจที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาอุทกภัย และขอให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายในเร็ววัน
ข่าว : ทัศนีย์ เรืองวงศ์วิทยา
ภาพ : ศันสนีย์ ไชยเพีย
กราฟิก : สิทธิณีพร ผ่านสำแดง
