สุดอลังการ ราชมงคลขอนแก่น ร่วมสืบสานประเพณีรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองขอนแก่น ฉลองครบรอบ 227 ปี
วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดย อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น สนับสนุนนางรำและนายรำ ประกอบด้วย ผศ.ดร.รัชนก เธียรวาริช กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำและข้าราชการ ผศ.นัฎพร จิรเจษฎา ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายธรรมาภิบาลและสร้างสรรองค์กร คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ดร.นทยา กัมพลานนท์ รศ.ดร.ญาณวรรธน์ แสนตลาดชัยกิตติ์ คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ทั้งหญิงและชายจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าร่วมรำในพิธีบวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองขอนแก่น ฉลองครบรอบ 227 ปี ก่อตั้งเมืองขอนแก่น เพื่อแสดงถึงความเคารพบูชาและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพสักการะของคนขอนแก่น โอกาสนี้ อาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ได้นำ ดร.จริยา บัวเจริญ หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยามิติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ร่วมให้กำลังใจ นางรำ นายรำ ที่เข้าร่วมรำบวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟพาวเวอร์” ประจำปี 2567 ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถนนศรีจันทร์ ในครั้งนี้ด้วย
การร่วมรำบวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟพาวเวอร์” ประจำปี 2567 มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญด้านการทำนุบำรุงศาสนา และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จึงได้ให้ความร่วมมือสนับสนุนนางรำและนายรำร่วมรำบวงสรวงเป็นประจำทุกปี โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนในอำเภอต่าง ๆ รวม 26 อำเภอ ร่วมรำบวงสรวง รวมกว่า 50,000 คน ใช้เวลาในการรำ 30 นาที กับบทเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมชมและให้กำลังใจการรำที่ยิ่งใหญ่อลังการ พร้อมกับศิลปินรับเชิญ แพรวา – พลัสเตอร์ 2 ศิลปินสายเลือดขอนแก่น ร่วมรำบวงสรวงในครั้งนี้ด้วย
สำหรับการจัดงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่น Soft Power ประจำปี 2567 ซึ่งจัดงานเป็นครั้งที่ 45 เพื่อประชาสัมพันธ์ความงดงามวิจิตร ความประณีตของผ้าไหมขอนแก่น แสดงถึงศักยภาพของเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ ของ UNESCO นำเสนอความเป็น Soft Power ของจังหวัด ซึ่งสามารถนำความเป็นไทยสู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีโลก ได้แก่ อาหาร ผ้าไหม มวยไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม หมอลำ รวมถึงวิถีชีวิตควบคู่กับการนำเสนอการเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น และเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ความงดงามของผ้าลายไทยจังหวัดขอนแก่นและการรื้อฟื้นสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของคนอีสานที่มีมาแต่โบราณทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรม พิธีผูกเสี่ยว กิจกรรมการประกวดแข่งขันด้านศิลปะวัฒนธรรมอีสาน การสาธิตฟ้อนเตี้ยโนนทัน หนึ่งเดียวในภาคอีสาน และนิทรรศการ ให้ความรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ การประกวดผ้าไหมมัดหมี่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP การแสดงของคณะหมอลำที่มีชื่อเสียง การออกร้านนิทรรศการของส่วนราชการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “เรือนไม้โบราณวิถีคนขอนแก่น” ที่มุ่งเน้นการสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวขอนแก่น ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม มีการแสดงจัดจำหน่ายอาหารสินค้าชุมชน ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมทั้งการตกแต่งบริเวณบ้านโบราณด้วยธุงโคมไฟและธุงใยแมงมุม ซึ่งเป็นการถักทอร้อยธุงมาจากความรักความสามัคคีของพี่น้องชาวขอนแก่น ทั้ง 26 อำเภอ ซึ่งแต่ละอำเภอในจังหวัดขอนแก่น ได้นำไม้เรือนเก่าที่มีอยู่ในพื้นที่มาดัดแปลงสร้างเป็นเฮือนบ้านไม้แบบโบราณบนพื้นที่จัดงานแสดงเทศกาลไหมฯ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นรวม เป็นหมู่บ้านชุมชนโบราณ โดยการปลูกสร้างบ้านที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงรวมกันอยู่เหมือนคุ้มที่มีเฮือนรวมกันอยู่หลาย ๆ หลังเป็นหมู่บ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน ใช้ชื่อว่า “เฮือนโบราณ วิถีไทยบ้านขอนแก่น” ให้ยังคงอยู่สืบทอดเป็นมรดกของคนภาคอีสานตลอดไป
ข่าว :ศันสนีย์ ไชยเพีย
กราฟิก : สิทธิณีพร ผ่านสำแดง
ภาพ : คณะทำงาน