ราชมงคลขอนแก่น เปิดบ้านต้อนรับ EEC HDC เพื่อร่วมหารือการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมระบบราง

🔷🔸 ราชมงคลขอนแก่น เปิดบ้านต้อนรับ EEC HDC เพื่อร่วมหารือการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมระบบราง 🔹🔶

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มอบหมายให้ อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.ศักดิ์ระวี ระวีกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.ณรงค์ สีหาจ่อง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและทดสอบมาตรฐานระบบราง และอาจารย์ ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากร และพื้นที่ สกพอ. และประธานคณะทำงาน EEC HDC พร้อมด้วย รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สกพอ. พร้อมคณะ ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาและศูนย์เครือข่ายฯ การพัฒนาบุคลากร ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ ห้องประชุมไพศาล ห์ลีละเมียร อาคาร 50 ปี เทคนิค ไทย – เยอรมัน ขอนแก่น มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

การลงพื้นที่ของคณะ EEC HDC เพื่อติดตามการดำเนินงานฯ ในครั้งนี้ ได้มีการร่วมหารือกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในประเด็นการดำเนินงานเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมระบบรางตามแนวทาง EEC MODEL Type A & Type B ที่ผ่านมาของ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น แผนงานและแนวทางเพื่อดำเนินการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมระบบราง ในปี 2566 – 2567 พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค เกี่ยวกับการจัดตั้งเป็นศูนย์เครือข่ายระบบราง และการฝึกอบรมระยะสั้น Type B ร่วมกัน จากนั้นได้เยี่ยมชมสถานที่สำหรับการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายระบบรางของ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (EEC NETs) ณ อาคารฝึกปฏิบัติการซ่อมรถไฟ (Depot)

คณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรการศึกษาของอีอีซี ที่เรียกว่าคณะทำงาน EEC HDC เป็นกลุ่มงานที่รับผิดชอบงานพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ รองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ตามแนวทาง EEC Model รวมทั้งขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ร่วมกันจัดทำหลักสูตร และพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ EEC หรือ ที่เรียกว่า “Demand Driven” โดยอีอีซีได้ตั้งเป้าหมายการสร้างบุคลากรป้อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายรวมกว่า 5.6 แสนคน เป็นระดับอาชีวะ 54% ที่เหลือเป็นกลุ่มทักษะ – ความรู้ที่สูงกว่า EEC HDC ได้วางรากฐานการพัฒนาบุคลากร ทั้งการพัฒนาทักษะความรู้โดยตรงร่วมกับ 24 สถาบันอุดมศึกษาและ 40 วิทยาลัยระดับอาชีวะ รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่ที่จัดการศึกษาพื้นฐานกว่า 840 แห่ง รวมทั้งสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ยุคใหม่ ผ่านงบบูรณาการเพื่อปรับสร้างประสบการณ์ – ทักษะ – การเรียนรู้ยุคใหม่ – และประสบการณ์ โดยวางแนวการบริหารจัดการในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หวังจะสร้างสัมฤทธิผลหนุนการพัฒนาบุคลากรป้อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับอุตสาหกรรมในขณะเดียวกัน

ข่าว : ศันสนีย์ ไชยเพีย
ภาพ : พิมพ์ฤทัย ชัยวิเศษ
กราฟิก : รัตนาวดี ประกายแก้ว

https://www.facebook.com/Rmutikhonkaen/posts/pfbid0gPqZj8W6hCffmWzPuQAq4VB3rzA2AHtGaYFuyrumsufTANb9VSYG4FAbTF5FRbnBl